ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: เริม (Herpes simplex)  (อ่าน 444 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 373
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: เริม (Herpes simplex)
« เมื่อ: 29 สิงหาคม 2024, 19:33:24 pm »
หมอประจำบ้าน: เริม (Herpes simplex) 

เริม เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งของผิวหนังและเยื่อเมือกต่าง ๆ มีลักษณะพุขึ้นเป็นตุ่มใสเล็ก ๆ แล้วแตกเป็นแผล ตกสะเก็ด ซึ่งหายได้เอง แต่มักกำเริบซ้ำและเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง พบได้บ่อยในคนทุกวัย มักเริ่มติดเชื้อครั้งแรกตั้งแต่วัยเด็ก

ส่วนใหญ่การติดเชื้อเริมมักไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้

ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมักมีอาการกำเริบได้บ่อยและรุนแรงกว่าปกติ ในทารกและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ) อาจมีอาการรุนแรง โดยที่เชื้อสามารถแพร่เข้าสู่กระแสเลือดกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเริม หรือเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ (herpes simplex virus/HSV) ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ไวรัสเริมชนิดที่ 1 (HSV-1) กับไวรัสเริมชนิดที่ 2 (HSV-2) เชื้อเริมทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ทั้งบริเวณผิวหนังทั่วไป ช่องปาก อวัยวะเพศ และเยื่อเมือกต่าง ๆ ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรง ผ่านทางรอยถลอกของผิวหนัง หรือทางเยื่อเมือก (เช่น เยื่อบุตา ช่องปาก องคชาต ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก) ดังนั้น ผู้ที่คลุกคลีใกล้ชิดกัน เช่น เด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียน สามีภรรยา สมาชิกในครอบครัว มีโอกาสติดเชื้อเริมได้ง่าย

สำหรับโรคเริมที่อวัยวะเพศ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการเป็นแผลที่อวัยวะเพศ ถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง

ระยะฟักตัว สำหรับการติดเชื้อครั้งแรกประมาณ 2-20 วัน

เมื่อหายจากโรค เชื้อเริมจะเข้าไปหลบซ่อนที่ปมประสาทในบริเวณใต้ผิวหนังหรือเยื่อบุ และแฝงตัวอยู่อย่างสงบ แต่เมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เช่น เป็นไข้ ถูกแดดจัด ร่างกายอิดโรย อารมณ์เครียด วิตกกังวล การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ การได้รับบาดเจ็บหรือผ่าตัดบริเวณใบหน้า การทำฟัน ภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น เชื้อเริมที่แฝงตัวอยู่นั้นจะเกิดการแบ่งตัวเจริญเติบโตเกิดการปลุกฤทธิ์คืน (reactivation) ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ ซึ่งสามารถเป็นได้บ่อย ๆ สำหรับเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 มักจะทำให้เกิดอาการกำเริบที่ปากมากกว่าอวัยวะเพศ ส่วนเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 เกิดอาการกำเริบที่บริเวณอวัยวะเพศมากกว่าปาก

อาการ

ขึ้นกับตำแหน่งที่ติดเชื้อ อายุ ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย และชนิดของเชื้อ ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งแรก (ในผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้มาก่อน) มักมีอาการทั่วไป (เช่น ไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย) ร่วมด้วย มีรอยโรค ระยะเวลาของอาการแสดง และภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าการติดเชื้อซ้ำ

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงอาการของโรคเริมที่พบได้บ่อย ดังนี้

1. เริมที่ผิวหนัง ส่วนใหญ่จะพบการติดเชื้อซ้ำ (reactivation) บริเวณรอยโรคมักมีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือปวดเสียวนำมาก่อน 1/2-48 ชั่วโมง (ถ้าเป็นที่บริเวณขา สะโพก หรือก้น อาจมีอาการปวดแปลบนำมาก่อนประมาณ 1-5 วัน) แล้วมีตุ่มน้ำใส ขนาด 2-3 มม.ขึ้นอยู่กันเป็นกลุ่ม โดยรอบจะเป็นผื่นแดง ต่อมาตุ่มน้ำใสนี้จะกลายเป็นสีเหลืองขุ่นแล้วแตกกลายเป็นสะเก็ดหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ (เร็วสุด 3 วัน)

ด้วยลักษณะของตุ่มน้ำใสที่อยู่กันเป็นกลุ่มแบบนี้ ชาวบ้านบางแห่งจึงเรียกโรคนี้ว่า ขยุ้มตีนหมา

ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ ริมฝีปาก แก้ม จมูก หู ตา ก้น อวัยวะเพศ ผื่นมักจะขึ้นที่ตำแหน่งที่เคยขึ้นอยู่เดิม หรือในบริเวณใกล้เคียง

ในกรณีที่เป็นการติดเชื้อครั้งแรก มักมีอาการอักเสบที่รุนแรงกว่า บริเวณรอยโรคจะมีลักษณะบวมและเจ็บ ระยะแรกจะขึ้นเป็นตุ่มน้ำใส ต่อมาจะดูคล้ายเป็นตุ่มหนองหรือฝี (ภายในเป็นน้ำและเซลล์ผิวหนังที่ตาย) เรียกว่า ตะมอยเริม (herpetic whitlow) ซึ่งจะเป็นอยู่นาน 7-10 วัน ส่วนน้อยอาจมีอาการไข้ และต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงอักเสบร่วมด้วย

พบบ่อยที่นิ้วชี้ รองลงมาคือนิ้วหัวแม่มือ บางรายอาจพบที่บริเวณฝ่ามือ

ในทารกและเด็กเล็กมักเกิดจากการดูดนิ้วในขณะที่มีการติดเชื้อเริมในปาก หรือเกิดจากการจับมือของผู้ใหญ่ที่เป็นเริมในปาก

ในผู้ใหญ่อาจเกิดจากการสัมผัสระหว่างมีเพศสัมพันธ์ หรือการต่อสู้ (เช่น นักมวยปล้ำ ซึ่งอาจมีรอยโรคที่หน้า คอ ลำตัว แขนขา) และบุคลากรทางการแพทย์ อาจติดจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วยเริม

2. เริมในช่องปาก (herpertic gingivostomatitis) เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดของการติดเชื้อเริมชนิดที่ 1 เป็นครั้งแรก พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีระยะฟักตัวของโรค 2-3 วัน (อาจนานถึง 20 วัน)

ในกรณีติดเชื้อครั้งแรก ผู้ป่วยจะเป็นเริมในช่องปากชนิดเฉียบพลัน ซึ่งมีอาการดังนี้

เด็กเล็ก จะมีไข้ ร้องกวน ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร มีตุ่มน้ำพุขึ้นที่เยื่อบุของริมฝีปาก เหงือก ลิ้น และเพดานปาก แล้วแตกเป็นแผลตื้นสีเทาบนพื้นสีแดง ขนาด 1-3 มม. มักมีอาการเหงือกบวมแดง ซึ่งบางครั้งอาจมีเลือดซึมและมีกลิ่นปาก เด็กอาจมีภาวะขาดน้ำเนื่องจากดื่มนมและน้ำได้น้อย มักตรวจพบต่อมน้ำเหลืองใต้คางโตและเจ็บ อาการต่าง ๆ จะเป็นมากในช่วงประมาณ 4-5 วันแรก และแผลมักหายได้เองภายใน 10-14 วัน

เด็กโตและผู้ใหญ่ ระยะแรกจะมีอาการเจ็บคอ ซึ่งตรวจพบหนองที่ผนังคอหอย หรือแผลบนทอนซิล ต่อมาจะพบแผลที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม และเหงือก อาจมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วย อาการต่าง ๆ มักหายได้เองภายใน 7-10 วัน

ผู้ป่วยที่เป็นเริมในช่องปากเมื่อหายแล้วเชื้อมักหลบซ่อนอยู่ที่ปมประสาทของสมองคู่ที่ 5 (trigeminal ganglion) ต่อมาเชื้ออาจแบ่งตัวเจริญเติบโตทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ ส่วนใหญ่จะเกิดเป็นแผลเริมที่ริมฝีปาก เรียกว่า เริมที่ริมฝีปาก (herpes labialis บางครั้งเรียกว่า fever blisters หรือ cold sores) มักมีตุ่มน้ำเล็ก ๆ พุขึ้นเป็นกลุ่มที่บริเวณริมฝีปาก แล้วแตกกลายเป็นแผลตกสะเก็ดอยู่ 2-4 วัน ก่อนมีตุ่มขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงถึงหลายวัน อาจมีอาการปวดแสบหรือคันบริเวณรอยโรค

บางรายอาจเกิดแผลเปื่อยในช่องปาก เรียกว่า เริมในช่องปากชนิดเป็นซ้ำ (recurrent intraoral herpes simplex) มักมีแผลเดียวเกิดขึ้นที่เหงือก หรือเพดานแข็ง โดยแรกเริ่มขึ้นเป็นตุ่มน้ำเล็ก ๆ แล้วแตกเป็นแผลลักษณะเป็นสะเก็ดสีเหลืองปกคลุมอยู่บนพื้นสีแดง เมื่อลอกออกจะกลายเป็นแผลตื้นพื้นสีแดง

บางรายอาจมีแผลเริมขึ้นที่ใบหน้าหรือจมูก

แผลเริมเหล่านี้มักหายได้เองภายใน 5-10 วัน แต่ต่อมาอาจกำเริบซ้ำได้อีก อาการมักกำเริบเวลามีประจำเดือน ถูกแดด เครียด ได้รับการกระทบกระเทือนเฉพาะที่ (เช่น ถอนฟัน ผ่าตัดที่บริเวณใบหน้า) เวลาเป็นไข้หวัด หรือเป็นไข้ (เช่น ทอนซิลอักเสบ ปอดอักเสบ มาลาเรีย ไข้กาฬหลังแอ่น สครับไทฟัส เป็นต้น)

3. เริมที่อวัยวะเพศ (herpes genitalis) ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 ส่วนน้อยเกิดจากเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1

ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งแรกจะมีระยะฟักตัว 2-10 วัน ผู้ป่วยมักมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และเกิดผื่นตุ่มขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ โดยมีอาการแสบ ๆ คัน ๆ นำมาก่อน (ในผู้ชายอาจขึ้นที่หนังหุ้มปลายองคชาต ที่ตัวหรือที่ปลายองคชาต ถุงอัณฑะ ต้นขา ก้น รอบทวารหนัก หรือในท่อปัสสาวะ ส่วนผู้หญิงอาจขึ้นที่ปากช่องคลอด ก้น รอบทวารหนัก ในช่องคลอด หรือที่ปากมดลูก) ลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำ หรือแผลแดง ๆ คล้ายรอยถลอก อาจมีอาการเจ็บหรือคัน ต่อมาจะแห้ง อาจมีสะเก็ดหรือไม่มีก็ได้ แล้วหายไปได้เอง โดยอาจเป็นอยู่นาน 2-3 สัปดาห์

ผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะแสบขัด หนองไหลจากช่องคลอดและท่อปัสสาวะ ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตและเจ็บร่วมด้วย

นอกจากนี้ยังอาจพบรอยโรคที่ก้น ขาหนีบ หน้าขา นิ้วมือ หรือตา ซึ่งมักเกิดในสัปดาห์ที่ 2

หลังจากอาการหายแล้ว เชื้ออาจหลบซ่อนอยู่ที่ปมประสาท แล้วต่อมาจะมีการติดเชื้อซ้ำเป็น ๆ หาย ๆ อยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 6 เดือนแรกหลังติดเชื้อครั้งแรก อาจเกิดขึ้นบ่อยและค่อย ๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป อาการมักกำเริบเวลาร่างกายทรุดโทรม เครียด มีประจำเดือน หรือมีการเสียดสี (เช่น มีเพศสัมพันธ์)

ในการติดเชื้อซ้ำ ผู้ป่วยจะมีอาการแสบ ๆ คัน ๆ บริเวณที่เป็นรอยโรค (รวมทั้งต้นขาด้านในหรือก้น) นำมาก่อน ต่อมาจะพุขึ้นเป็นตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ หลายตุ่มอยู่กันเป็นกลุ่มที่อวัยวะเพศ มักขึ้นตรงตำแหน่งเดิมที่เคยเป็น อาจมีอาการปัสสาวะแสบขัด ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตและเจ็บ ตุ่มมักจะตกสะเก็ดภายใน 4-5 วัน แล้วหายไปได้เองภายใน 10 วัน บางรายอาจมีไข้และอ่อนเพลียร่วมด้วย

บางรายอาจมีการติดเชื้อซ้ำโดยไม่มีอาการ แต่จะปล่อยเชื้อออกมาแพร่ให้ผู้อื่นได้


ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่มักหายได้เอง แล้วอาจกำเริบเป็นครั้งคราว ส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ตุ่มหรือแผลกลายเป็นหนองพุพองจากการอักเสบซ้ำของเชื้อแบคทีเรีย

ในเด็กที่เป็นเริมในช่องปากอาจมีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากดื่มนมและน้ำไม่ได้

ถ้าเริมขึ้นที่บริเวณตาอาจทำให้กระจกตาอักเสบ (keratitis) ถึงกับทำให้สายตาพิการได้

เชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 อาจเข้าไปที่ประสาทใบหน้า (facial nerve) ทำให้เส้นประสาทอักเสบ กลายเป็นอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกหรืออัมพาตเบลล์ได้

ผู้หญิงที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก

นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ซึ่งมักพบในทารกแรกเกิด หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยหลังได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือเคมีบำบัด ขาดอาหาร มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ผู้ป่วยเอดส์ หรือกินยาสเตียรอยด์นาน ๆ) เด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจพบได้ เช่น

    ในเด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ เมื่อติดเชื้อเริมอาจมีผื่นตุ่มขึ้นแบบกระจายทั่วไป ซึ่งอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ เรียกว่า "Eczema herpeticum"
    การติดเชื้อเริมชนิดแพร่กระจาย (disseminated infection) ซึ่งพบในทารกแรกเกิด ผู้ที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ผู้ที่ใช้สเตียรอยด์นาน ๆ หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้มีผื่นตุ่มกระจายทั่วไป ตุ่มพองใหญ่และมีเลือดออกอยู่ภายในตุ่ม และเชื้อแพร่กระจายไปสู่อวัยวะต่าง ๆ เช่น สมอง ปอด ระบบทางเดินอาหาร ตับ ม้าม ไต ต่อมหมวกไต ไขกระดูก เป็นต้น เกิดอาการรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ บางรายอาจมีเนื้อเยื่อคอรอยด์และจอตาอักเสบ (chorioretinitis) ทำให้ตาบอดได้
    สมองอักเสบ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 พบมากในทารกแรกเกิด ผู้ป่วยอายุ 5-30 ปี และอายุเกิน 50 ปี มีอัตราตายสูง
    เยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดอะเซปติก (aseptic meningitis) ซึ่งพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 ครั้งแรกที่อวัยวะเพศ อาการมักทุเลาภายในไม่กี่วัน และหายได้เองโดยไม่มีความพิการหลงเหลือ
    หลอดอาหารอักเสบ ซึ่งพบในผู้ป่วยเอดส์ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บขณะกลืน กลืนลำบาก น้ำหนักลด
    ตับอักเสบ ซึ่งมักจะไม่รุนแรงในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง แต่ถ้าพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือหญิงตั้งครรภ์ ก็อาจกลายเป็นตับอักเสบชนิดเร็วร้าย (fulminant hepatitis) ได้
    การติดเชื้อเริมในผู้หญิงตั้งครรภ์ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ทารกเป็นโรคเริมแต่กำเนิด ซึ่งเกิดจากเชื้อเริมได้ทั้ง 2 ชนิด ทำให้ทารกน้ำหนักน้อย ศีรษะเล็ก ชัก ปอดอักเสบ ตับโต ตาเล็ก ต้อกระจก เนื้อเยื่อคอรอยด์และจอตาอักเสบ มีผื่นตุ่มตามผิวหนังหรือนิ้วมือ

ถ้ามารดาติดเชื้อเริมในไตรมาสสุดท้าย อาจทำให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า หรือคลอดก่อนกำหนด

ถ้ามารดาเป็นโรคเริมที่ช่องคลอดหรือปากมดลูกในระยะใกล้คลอด อาจทำให้ทารกติดเชื้อขณะคลอด กลายเป็นโรคเริมชนิดรุนแรง เช่น โรคเริมชนิดแพร่กระจาย สมองอักเสบ กระจกตาอักเสบ จอตาอักเสบ เป็นต้น

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ตรวจพบตุ่มน้ำใส ขนาด 2-3 มม.หลายตุ่ม อยู่กันเป็นกลุ่ม หรือพบตุ่มตกสะเก็ดหรือแผลเล็ก ๆ คล้ายรอยถลอกในบริเวณผิวหนังส่วนใดส่วนหนึ่ง ริมฝีปากหรืออวัยวะเพศ อาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงโตและเจ็บ บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย

อาจตรวจพบแผลที่ขึ้นพร้อมกันหลายแห่งในช่องปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กที่เป็นเริมในช่องปาก

ในบางรายแพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การขูดแผลนำเนื้อเยื่อไปย้อมสี การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทาน (แอนติเจน) หรือดีเอ็นเอ ของเชื้อเริมจากแผลหรือสิ่งคัดหลั่ง การทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

1. แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ (เช่น ยาแก้ปวดลดไข้-พาราเซตามอล ให้สารน้ำในรายที่มีภาวะขาดน้ำ) ร่วมกับให้ยาต้านไวรัส (เช่น อะไซโคลเวียร์) ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรค ช่วยให้หายเร็วขึ้น และลดโอกาสการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น แต่มักไม่มีผลในการป้องกันการกำเริบซ้ำ

2. ในรายที่สงสัยมีภาวะแทรกซ้อน (เช่น สมองอักเสบ เยื่อสมองอักเสบ ตับอักเสบ) มีการติดเชื้อในทารกแรกเกิด หรือเป็นโรคเริมชนิดแพร่กระจาย แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้อะไซโคลเวียร์ (acyclovir) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำนาน 10-14 วัน

3. ในรายที่มีเริมขึ้นที่บริเวณตาจะปรึกษาจักษุแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าพบว่ามีกระจกตาอักเสบจากเชื้อเริม (herpetic keratitis) ก็จะให้ยาต้านไวรัสชนิดหยอดตาหรือป้ายตา เช่น ยาหยอดตาไตรฟลูริดีน (trifluridine) หรือขี้ผึ้งป้ายตาไวดาราบีน (vidarabine) นาน 21 วัน ในรายที่เป็นรุนแรงอาจต้องให้กินอะไซโคลเวียร์ นาน 10 วัน

4. สำหรับผู้ที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศซ้ำบ่อย ๆ (มากกว่าปีละ 6 ครั้ง) ให้อะไซโคลเวียร์กินทุกวัน ติดต่อกันอย่างน้อย 1 ปี จะลดอัตราการเป็นซ้ำ และลดการแพร่เชื้อของผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ

5. ผู้ป่วยโรคเริมที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดอื่น เช่น ฟามซิโคลเวียร์ (famciclovir) กินครั้งละ 250 มก. หรือวาลาไซโคลเวียร์ (valaciclovir) กินนาน 7-10 วัน

6. ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อเริมครั้งแรกที่ช่องคลอดหรือปากมดลูกในระยะใกล้คลอด แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกติดเชื้อขณะคลอดผ่านทางช่องคลอด

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีตุ่มน้ำใสขนาด 2-3 มม. ขึ้นอยู่กันเป็นที่จุดใดจุดหนึ่ง เช่น ริมฝีปาก แก้ม จมูก หู ตา ก้น อวัยวะเพศ เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นเริม ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์   
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีไข้ ปวดศีรษะมาก อาเจียน ตาเหลืองตัวเหลือง เบื่ออาหาร กินอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อย หรือมีอาการซึมมาก
    หลังจากโรคหายแล้ว ในเวลาต่อมามีอาการกำเริบใหม่
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อเริม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อซ้ำ) มักไม่มีอาการแสดง แต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ โดยเชื้ออาจมีอยู่ในน้ำตา น้ำลาย คอหอย อวัยวะเพศ ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ การป้องกันการติดเชื้อเริมจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะไม่มีทางแยกออกได้ว่าใครบ้างที่เป็นผู้ติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรปฏิบัติดังนี้

    หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น จาน ชาม แก้วน้ำ มีดโกน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า) ร่วมกับผู้อื่น
    หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยที่มีตุ่มตามผิวหนัง หรือเยื่อเมือก หรือผู้ที่มีแผลเปื่อยในช่องปาก
    หลีกเลี่ยงการเที่ยวหญิงบริการ และมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่ครอง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้ถุงยางอนามัย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก (oral-genital contact)


ข้อแนะนำ

1. การรักษาด้วยยาต้านไวรัสช่วยให้โรคหายเร็วขึ้นและลดการแพร่เชื้อ แต่ไม่มีผลในการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ โรคนี้มักจะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง อาจสร้างความวิตกกังวลแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศ จึงควรให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยว่า สำหรับผู้ที่แข็งแรงดีโรคนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด แต่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ทารกแรกเกิด เด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ผู้ที่บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก อาจเกิดภาวะติดเชื้อเริมแบบร้ายแรงได้ ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคเริมจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลเหล่านี้

2. ถ้าเป็นเริมที่อวัยวะเพศ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลเริมจะหาย หรือไม่ก็ควรป้องกันการแพร่เชื้อโดยการใช้ถุงยางอนามัย และถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งแรกควรตรวจกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น (เช่น เอดส์ ซิฟิลิส) ที่อาจพบร่วมด้วย

3. ผู้ที่เป็นโรคเริมที่ปากมดลูก ควรตรวจกรองมะเร็งปากมดลูกระยะแรก (Pap smear) ปีละ 1 ครั้ง ถ้าพบว่าเป็นเริมที่อวัยวะเพศขณะตั้งครรภ์หรือใกล้คลอดควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

4. ผู้ที่เป็นโรคเริมกำเริบถี่มาก หรือเป็นรุนแรง หรือเป็นแผลเริมเรื้อรังเกิน 1 เดือน ควรตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี เพราะอาจพบว่าเป็นเอดส์ได้

5. ครีมพญายอ ซึ่งทำจากสมุนไพรเสลดพังพอนตัวเมีย (พญายอ) ได้ผ่านการศึกษาวิจัยแล้วพบว่า สามารถรักษาเริมที่อวัยวะเพศที่เป็นครั้งแรกได้ผลพอ ๆ กับครีมอะไซโคลเวียร์ (ซึ่งประสิทธิผลสู้อะไซโคลเวียร์ชนิดกินไม่ได้) และไม่สามารถป้องกันการกำเริบซ้ำ ส่วนเริมที่กำเริบซ้ำจะใช้ยาทาเหล่านี้ไม่ได้ผล

 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว ลงโฆษณาฟรี google