โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกเพศทุกวัย อาจบดบังทัศนวิสัยและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้
โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง คืออะไร
โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง คือ ภาวะที่เปลือกตาหรือกล้ามเนื้อยึดลูกตาอ่อนแรงหลังจากใช้งานไประยะหนึ่ง
สาเหตุของโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่บริเวณรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อลาย ทำให้สารสื่อประสาททำงานลดลง และมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย
สาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง มาจากการที่ร่างกายของเราสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติขึ้นมา โดยจะมีภูมิคุ้มกันอยู่จำพวกหนึ่งที่ชอบเข้าไปแย่งสารสื่อประสาทกับตัวรับบริเวณกล้ามเนื้อ ทำให้สารสื่อประสาทที่หลั่งออกมาจากเส้นประสาททำงานได้น้อยลง กล้ามเนื้อจึงอ่อนแรงลงตามระยะเวลาการใช้งานและสารสื่อประสาทที่ลดลง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
คนที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ
มีคนในครอบครัวเป็นโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมาก่อน (เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมได้)
เป็นผู้ป่วยโรคไทรอยด์ เพราะโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมักจะมาคู่กับโรคไทรอยด์ถึงประมาณ 10-15%
เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง แม้ว่าจะพบได้น้อย แต่โรคมะเร็งหรือเนื้อร้ายหลายชนิดสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันและก่อให้เกิดปัญหาคล้ายๆ โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้
ผู้หญิงช่วงวัย 20-40 ปี และผู้ชายอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงมากกว่าวัยอื่นๆ
อาการของโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
หนังตาตก คล้ายๆ กับภาวะหนังตาตกตามวัย
ลืมตาไม่ขึ้น
กลอกตาไม่ได้
ตาเหล่ผิดจากไปจากปกติ
หลับตาไม่สนิท
โฟกัสภาพไม่ได้
เกิดภาพซ้อน ลักษณะคือเห็นภาพ 2 ภาพเหลื่อมกันหรือเห็นภาพแยกออกจากกัน เนื่องจากแนวการมองของดวงตาทั้งสองข้างไม่มองไปในตำแหน่งเดียวกัน แต่หากคนไข้ปิดตาข้างใดข้างหนึ่ง ภาพซ้อนดังกล่าวจะหายไป
อาการเป็นๆ หายๆ ระหว่างวัน หรือเรียกได้ว่าอาการ “เช้าดี บ่ายแย่” คือ หลังตื่นนอนแทบไม่มีอาการ อาการจะมีมากช่วงบ่ายๆ เย็นๆ และอาการจะดีขึ้นเมื่อได้พักผ่อน
วิธีรักษาโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
ยาหยอดตา สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเพียงหนังตาตกเล็กน้อย ไม่มีอาการอื่น สามารถทำให้เปลือกตายกขึ้นได้ไปใช้ เป็นวิธีที่ปลอดภัยมากที่สุด
กินยาที่เพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง ถ่ายท้อง น้ำลายไหล กล้ามเนื้อกระตุก เป็นต้น
กินยาสเตียรอยด์ ในรายที่ยาเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทไม่ได้ผล แต่อาจพบผลข้างเคียงมากกว่า เช่น สิวขึ้น อ้วนขึ้น น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ภูมิคุ้มกันต่ำลง ปวดกล้ามเนื้อ หรือฮอร์โมนผิดปกติ เป็นต้น หากกินยาสเตียรอยด์ ไม่ควรหยุดยาเอง และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
กินยากดภูมิคุ้มกัน ใช้ในกลุ่มที่ยาสเตียรอยด์ไม่ได้ผล มีผลข้างเคียงที่อันตรายที่สุด มีฤทธิ์ทำลายตับหรือกดไขกระดูก
ผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองกับยากลุ่มใดๆ ดังกล่าวเลย แต่การรักษาด้วยการผ่าตัดหนังตาให้ผลการรักษาที่ไม่แน่นอน
หากคนไข้ทำการผ่าตัดดึงหนังตาโดยไม่ทราบมาก่อนว่าตัวเองเป็นโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เมื่ออาการของโรคดีขึ้นหรือได้รับการรักษาอาจจะทำให้เปลือกตาถูกยกรั้งขึ้นผิดปกติ กลายเป็นหนังตาเหลือก ดังนั้น ก่อนตัดสินใจทำศัลยกรรมผ่าตัดหนังตา หากคนไข้มีอาการต่างๆ ข้างต้น ควรได้รับการตรวจว่าไม่ได้เกิดจากโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดหนังตาหรือทำศัลยกรรมทำตาสองชั้นเพื่อแก้ไขหนังตาตกต่อไป
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดหลับอดนอน
ไม่ทำงานหนักจนเหนื่อยเกินไป
หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิร้อนเกินไป (หากอยู่ที่เย็นๆ อาการจะดีขึ้น)
หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีแสงสว่างจ้าจนเกินไป
ผู้ป่วยเพศหญิงวัยที่ยังมีประจำเดือนอยู่ ช่วงที่มีประจำเดือน อาการของโรคอาจจะแย่ลงกว่าปกติ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษกว่าเดิมด้วยการพักผ่อนให้เยอะขึ้น
ดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงดีอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการเป็นโรคติดเชื้อต่างๆ เพราะหากมีอาการผิดปกติของร่างกาย อาการของโรคจะแย่ลงไปด้วย
ระมัดระวัง หรือปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ยากันชัก ยาคลายกล้ามเนื้อ เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้ ก่อนกินยาอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
หากสงสัยว่าตัวเองอาจเป็นโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ควรเข้ารับการตรวจกับจักษุแพทย์หรืออายุรแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง และโรคไทรอยด์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
ดูแลสุขภาพ: รู้จักโรค "กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง" ความผิดปกติจากระบบประสาท อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://www.healthyhitech.net/