ต้อเนื้อ พบมากในประเทศเขตร้อน ที่ค่อนข้างแห้งแล้งและมีฝุ่นลมจัด จึงเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในบ้านเราในแทบทุกภาคของประเทศ แต่จะพบเป็นกันมากในภาคอีสาน
พบมากในผู้ที่มีอายุระหว่าง 30-55 ปี ไม่พบในเด็กที่อายุต่ำกว่า 14 ปี ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเป็นเท่า ๆ กัน
สาเหตุ
ต้อเนื้อเป็นเยื่อบุตาที่เกิดการเสื่อมและหนาตัวขึ้น ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่าการถูกแสงแดด (อัลตราไวโอเลต) เป็นประจำเป็นปัจจัยที่สำคัญของการเกิดโรคนี้ นอกจากนี้การถูกลม ฝุ่น ควัน ความร้อน สารเคมี และมลพิษทางอากาศเป็นประจำก็อาจทำให้เกิดโรคนี้ได้ ดังนั้นต้อเนื้อจึงพบบ่อยในคนทำงานกลางแจ้ง ซึ่งถูกแดด ลม ฝุ่น เป็นประจำ (เช่น ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง คนงานก่อสร้าง นักกีฬากลางแจ้ง เป็นต้น) ส่วนน้อยอาจพบในผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสกับสิ่งระคายเคืองตาอื่น ๆ เช่น คนงานในโรงงาน (ถูกสารเคมี) คนทำครัว (ถูกควัน ไอร้อน) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยบางรายจะมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย จึงเชื่อว่าปัจจัยทางกรรมพันธุ์อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดต้อเนื้อ
อาการ
จะเห็นแผ่นเนื้อเยื่อสามเหลี่ยมสีเหลือง ๆ ที่บริเวณตาขาวชิดตาดำ ส่วนมากจะเกิดที่ด้านหัวตา (ด้านในของตาส่วนที่อยู่ใกล้กับจมูก) ส่วนน้อยอาจพบที่หางตา ทั้งนี้เพราะส่วนของหัวตามีโอกาสกระทบกับสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดต้อเนื้อมากกว่าส่วนหางตา ประกอบกับมีหลอดเลือดมาเลี้ยงในบริเวณหัวตามาก
บางครั้งหลังจากถูกลมถูกแสงมาก ๆ หรือนอนดึก อาจเห็นหลอดเลือดขยายมีลักษณะแดงเรื่อ ๆ
โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกมีอาการผิดปกติแต่อย่างใด นอกจากบางครั้งมีการอักเสบจะมีอาการเคืองตา น้ำตาไหล ตาแดง หรือมีอาการปวดเล็กน้อย
ในบางรายเมื่อเป็นนานเป็นแรมเดือนแรมปี ต้อเนื้ออาจยื่นเข้าไปถึงกลางตาดำทำให้บังสายตา ตามัว มองไม่ถนัด หรือเห็นภาพซ้อนได้
บางรายอาจมีต้อเนื้อที่หัวตาและหางตาพร้อมกัน
ผู้ป่วยอาจเป็นต้อเนื้อที่ตาเพียงข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้
ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนมากไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด นอกจากอาการเคืองตา ตาแดง
ในรายที่ต้อเนื้องอกยื่นเข้าไปที่กระจกตา อาจทำให้กระจกตาเปลี่ยนรูป เกิดสายตาเอียงแทรกซ้อนได้ ทำให้มองไม่ชัด
หากปล่อยไว้นานเป็นแรมปี ต้อเนื้อจะค่อย ๆ งอกลุกลามขึ้นช้า ๆ จนยื่นเข้าไปปิดตาดำจนมิด ก็อาจบังสายตาทำให้มองไม่ถนัดได้
ที่พบได้น้อยมากก็คือ การเกิดแผลเป็นที่กระจกตา เนื่องจากปล่อยให้มีการอักเสบของกระจกตาเรื้อรัง ซึ่งอาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และการตรวจพบแผ่นเนื้อเยื่อสามเหลี่ยมสีเหลือง ๆ ที่บริเวณหัวตา (บางรายอาจมีที่หางตาร่วมด้วย)
บางรายแพทย์อาจทำการตรวจวัดสายตา ตรวจดูลักษณะของกระจกตา (ดูว่าทำให้สายตาเอียงหรือไม่) รวมทั้งอาจทำการถ่ายภาพของตาที่เป็นต้อเนื้อเก็บไว้เพื่อใช้เปรียบเทียบดูการเปลี่ยนแปลงของโรคในวันข้างหน้า
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ถ้าไม่มีอาการอักเสบและต้อเนื้อยังไม่ยื่นเข้ากระจกตา ก็ไม่ต้องให้การรักษาใด ๆ แนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงแสงแดด ลม ฝุ่น ควัน ไอร้อน และสิ่งระคายเคืองตาต่าง ๆ ถ้าต้องออกกลางแดด ควรสวมแว่นตาดำที่สามารถกันแสงอัลตราไวโอเลต และหมั่นหยอดน้ำตาเทียม เพื่อป้องกันมิให้ต้อเนื้อลุกลาม
2. ถ้ามีการอักเสบ เคืองตา ให้ใช้ยาหยอดตาลดการอักเสบเป็นครั้งคราว ถ้าไม่ได้ผลหรืออักเสบมาก แพทย์อาจให้ใช้ยาหยอดตาสตีรอยด์ ซึ่งจะใช้เท่าที่จำเป็น เมื่อดีขึ้นก็หยุดใช้ ถ้าใช้ติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้เป็นต้อหินเรื้อรังได้
3. ในรายที่ต้อเนื้อยื่นเลยขอบตาดำเข้าไปสัก 3-4 มม. หรือมีสายตาเอียงเกิดขึ้น แพทย์จะทำการผ่าตัดลอกออก ซึ่งมีอยู่หลายวิธีที่แพทย์เลือกใช้ให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การลอกต้อเนื้อแบบธรรมดา (simple excision), การลอกต้อเนื้อและใช้เยื่อบุตาของผู้ป่วยเองแปะ (conjunctival auto-grafting), การลอกต้อเนื้อและใช้เยื่อถุงน้ำคร่ำแปะ (amniotic membrane transplantation)
เนื่องจากผู้ป่วยที่ผ่าตัดลอกต้อเนื้อออกแล้วมีโอกาสเป็นต้อเนื้อกำเริบคืนกลับมาได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่แพทย์ผ่าตัดการลอกต้อเนื้อแบบธรรมดา เพื่อป้องกันการคืนตัวของต้อเนื้อ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาเพิ่มเติมในผู้ป่วยบางรายเพื่อป้องกันการคืนตัวของต้อเนื้อ ด้วยการฉายรังสีบีตา (external beta radiation therapy) และ/หรือใช้ยาบางชนิด (เช่น Mitomycin-C) หยอดหลังผ่าตัด
และหลังการรักษาผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการถูกลม แดด ฝุ่น ควัน และไอร้อน เพื่อป้องกันต้อเนื้อกำเริบขึ้นใหม่
ในรายที่มีต้อเนื้อกำเริบหลังผ่าตัด แพทย์จะทำการผ่าตัดลอกต้อซ้ำอีก ซึ่งมักจะหายขาดได้
การดูแลตนเอง
หากสงสัยเป็นต้อเนื้อ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นต้อเนื้อ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา ใช้ยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
พยายามหลีกเลี่ยงการถูกแดด ลม ฝุ่น ควัน ไอร้อน และสิ่งระคายเคืองตาอื่น ๆ
สวมแว่นตากันแดด กันลม กันฝุ่น เวลาออกไปในที่กลางแจ้งที่มีแดดจ้า ลม หรือฝุ่น
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้ว ยังมีอาการเคืองตา ตาแดง หรือตาอักเสบ
มีอาการมองเห็นไม่ชัด หรือสงสัยสายตาเอียง
ต้อเนื้อลุกลามเข้าไปในตาดำ
ขาดยา หรือยาหาย
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ใช้ยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น คันตา ตาแดง ตาบวม หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
พยายามหลีกเลี่ยงการถูกแดด ลม ฝุ่น ควัน ไอร้อน และสิ่งระคายเคืองตาอื่น ๆ
เวลาออกไปทำงานในที่กลางแจ้ง หากมีแสงแดดจ้า ควรสวมแว่นตาดำที่สามารถกันแสงอัลตราไวโอเลต หากมีลมหรือฝุ่น ควรสวมแว่นที่สามารถใช้กันแดด กันลม และกันฝุ่นได้
หมั่นใช้น้ำตาเทียมหยอดตาหลังจากออกไปในที่กลางแจ้ง หรือสัมผัสสิ่งระคายเคือง หรือเวลารู้สึกเคืองตา แสบตา ตาแห้ง
ข้อแนะนำ
1. บางรายอาจมีตุ่มนูนสีขาวเหลืองรูปสามเหลี่ยมหรือหลายเหลี่ยมเล็ก ๆ เกิดขึ้นตรงขอบตาดำด้านหัวตาหรือหางตา (ตรงกับบริเวณที่เป็นต้อเนื้อ) ซึ่งมักเป็นที่ตา 2 ข้าง เรียกว่า ต้อลม (pinguecula) มีสาเหตุเช่นเดียวกับต้อเนื้อ ส่วนใหญ่มักจะไม่ลุกลามเข้าตาดำ และไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่างใด นอกจากบางครั้งอาจมีอาการอักเสบเคืองตา ก็ให้ใช้ยาหยอดตาแก้อักเสบเช่นเดียวกับต้อเนื้อ
ส่วนการผ่าตัดลอกออกนั้น แพทย์มักจะไม่แนะนำให้ทำ เพราะอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นไม่สวยงาม และมักกลับกำเริบขึ้นใหม่อีก
2. ทั้งต้อเนื้อและต้อลมเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด และไม่มียาที่ใช้กัดต้อเนื้อให้หลุดได้ (ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบัน หรือแผนโบราณก็ตาม) และที่สำคัญผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการซื้อยาหยอดตาที่มีตัวยาสตีรอยด์ผสมมาใช้เอง เนื่องเพราะหากใช้ติดต่อกันนาน ๆ อาจกลายเป็นต้อหินตาบอดได้
โรคต้อเนื้อ/ต้อลิ้นหมา (Pterygium) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions