ซ่อมบำรุงอาคาร: น้ำยาแอร์ มีกี่ชนิด ต้องเติมบ่อยไหม มีข้อควรระวังก่อนเติมอะไรบ้างน้ำยาแอร์ มีกี่ชนิด ต้องเติมบ่อยไหม พร้อมบอก ข้อควรระวังก่อนเติมน้ำยาแอร์ มีอะไรบ้าง ใครอยากรู้ว่าควรใช้น้ำยาแอร์ชนิดไหน เติมอย่างไร ตามมาดูกันเลย
น้ำยาแอร์ คือ
น้ำยาแอร์ เป็นสารทำความเย็นที่ใช้เพื่อผลิตเป็นลมแอร์ในเครื่องปรับอากาศ และ ระบบทำความเย็น โดยจะถูกส่งไปตามท่อแอร์ ไหลผ่านคอมเพรสเซอร์และคอยล์เย็น ที่จะทำหน้าที่ดูดซับปริมาณความร้อนและความร้อนแฝง เพื่อเปลี่ยนอุณหภูมิ และ ความดันให้ต่ำลง จนกลายเป็นลมเย็นออกมา ส่วนความร้อนที่หลงเหลือ จะถูกถ่ายเทผ่านคอนเดนเซอร์ แล้วถูกกลั่นให้กลับมาเป็นสถานะเดิม เพื่อกลับเข้าสู่ระบบ และ ทำหน้าที่ดังเดิม
น้ำยาแอร์ มีกี่ชนิด
น้ำยาแอร์มีหลายชนิด โดยน้ำยาแอร์เบอร์ต่างๆ จะถูกขึ้นต้นด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ “R” ซึ่งย่อมาจากคำว่า Refrigerant หรือ น้ำยาแอร์นั่นเอง ซึ่งน้ำยาแอร์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด มีอยู่ 3 ชนิด คือ
1. น้ำยาแอร์ R-22
เป็นน้ำยาแอร์รุ่นเก่า มีข้อดีคือ ราคาถูกที่สุด เมื่อเทียบกับน้ำยาแอร์ชนิดอื่น ส่วนข้อเสียคือ ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ทำลายชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ หากรั่วไหลออกมา จะเกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจอีกด้วย
คุณสมบัติ ค่า ODP (ดัชนีวัดการทำลายโอโซน) = 0.05 ค่า, GWP (ดัชนีชี้วัดผลกระทบภาวะโลกร้อน) = 1810 และ มีค่า Cooling Capacity(ประสิทธิภาพการทำความเย็น) = 100
2. น้ำยาแอร์R-32
พัฒนาขึ้นมาเพื่อนำมาใช้ทดแทน R22 ข้อดีคือ มีประสิทธิภาพทำความเย็นที่ดีขึ้น ทำความเย็นได้ โดยไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ แต่ก็มีข้อเสียคือ ราคาแพงกว่า R22 และ ยังคงส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน
คุณสมบัติ ค่า ODP (ดัชนีวัดการทำลายโอโซน) = 0 ค่า, GWP(ดัชนีชี้วัดผลกระทบภาวะโลกร้อน) = 675 และมีค่า Cooling Capacity (ประสิทธิภาพการทำความเย็น) = 160
3. น้ำยาแอร์R-410A
น้ำยาแอร์รุ่นใหม่ล่าสุด ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยประหยัดพลังงาน และ ช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก ข้อคือ ประหยัดพลังงานมากที่สุด และ มีราคาถูก ข้อเสียคือ สามารถติดไฟได้ จึงต้องระมัดระวังการรั่วไหลเป็นพิเศษ
น้ำยาแอร์ ต้องเติมบ่อยไหม
น้ำยาแอร์ไม่ต้องเติม เนื่องจากระบบไหลเวียนน้ำยาแอร์ในเครื่องปรับอากาศ เป็นระบบหมุนเวียนแบบปิด ระดับน้ำยาแอร์จึงเท่าเดิมเสมอ ไม่มีการระเหยออก หรือ ลดลง สามารถใช้งานได้ยาวนาน 5 – 10 ปี จนแอร์บางเครื่องไม่จำเป็นต้องเติมน้ำยาแอร์เลยก็ได้ แต่ถ้าท่อแอร์รั่วซึมเมื่อไหร่ ก็จะทำให้น้ำยาแอร์ค่อย ๆ ซึมออก และ หมดลงอย่างรวดเร็วทันที โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่า น้ำยาแอร์ในเครื่องปรับอากาศเกิดการรั่วไหล มีดังนี้
เครื่องปรับอากาศมีแต่ลม ไม่มีความเย็น
ค่าไฟฟ้าสูงกว่าปกติ
มีน้ำแข็งเกาะ บนสายสารทำความเย็นและตัวเครื่อง
คอยล์เย็นจนเกิดการแช่แข็ง
มีเสียงฟู่ หรือ เป็นฟอง ออกมาจากท่อสารทำความเย็น
ข้อควรระวังก่อนเติมน้ำยาแอร์
1. ต้องเติมชนิดเดียวกัน
หากแอร์บ้านของคุณใช้น้ำยาแอร์ชนิดไหนอยู่ ให้เติมชนิดเดียวกันเท่านั้น ห้ามใช้คนละชนิดมาผสมกันโดยเด็ดขาด
2. บางชนิดเติมได้เลย บางชนิดต้องถ่ายน้ำยาเก่าออก
น้ำยาแอร์R22 และ R32 สามารถเติมได้เลย เนื่องจากเป็นสารเชิงเดี่ยวไม่มีการผสมสารใดใดเพิ่มเติม แต่น้ำยาแอร์ R410A เป็นสารผสม ต้องถ่ายน้ำยาแอร์เดิมออกมาให้หมดทุกครั้งก่อนเติมน้ำยาใหม่ หากไม่ได้ถ่ายน้ำยาแอร์เก่าออก จะทำให้สัดส่วนของน้ำยาแอร์ไม่สมดุล
3. เติมให้พอดีตามที่สเปกของเครื่องระบุไว้
ควรเติมน้ำยาแอร์ให้พอดี ตามที่สเปกของเครื่องระบุไว้ หากมีการเติมน้ำยาแอร์มากเกินกว่าสเปกของเครื่อง ก็จะเกิดอาการ Over Charge ซึ่งจะส่งผลให้แอร์ไม่เย็นได้
4. ชั่งน้ำหนักก่อนเติมทุกครั้ง
เพื่อให้การเติมน้ำยาแอร์ เติมได้พอดีตามที่สเปกของเครื่องระบุไว้ จึงควรชั่งน้ำหนักน้ำยาแอร์ก่อนเติมทุกครั้งจะได้เติมได้พอดี ตามที่เครื่องปรับอากาศกำหนด
น้ำยาแอร์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แอร์เย็นฉ่ำ คลายร้อนได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงควรรู้คุณสมบัติของน้ำยาแอร์แต่ละชนิด รวมถึงวิธีการเติมน้ำยาแอร์ที่ถูกต้อง และ ข้อควรระวังในการเติมน้ำยาแอร์ เพื่อให้แอร์ของเราใช้งานได้ยาวนาน เย็นสบายตลอดทั้งวัน