โรคหัวใจหมายถึงโรคและภาวะต่างๆ ที่ส่งผลทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ ซึ่งแบ่งย่อยเป็นหลายโรคด้วยกัน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคลิ้นหัวใจโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และโรคกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น ซึ่งจากสถิติล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขพบที่เปิดเผย ณ วันที่ 16 กันยายน 2561 พบว่า มีคนไทยที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 432,943 คน และจากจำนวนดังกล่าวมีอัตราการตายถึง 20,855 คน ต่อปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าโรคดังกล่าวนี้มีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจที่พบบ่อยมีดังนี้
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุดสาเหตุเกิดจากมีคราบไขมันเกาะด้านในผนังหลอดเลือดจนทำให้ทางเดินหลอดเลือดแคบลงเมื่อมีลิ่มเลือดไหลผ่านอาจทำให้เกิดการอุดตันจนเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลันได้ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเนื่องจากร่างกายไม่สามารถส่งเลือดไปที่หัวใจได้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่ายเจ็บหน้าอกเมื่อใช้แรงมากๆและอาการจะชัดเจนมากขึ้นตามความรุนแรงของการตีบของหลอดเลือดหัวใจโดยโรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงเช่นไม่สูบบุหรี่คุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติอาจต้องทำบอลลูนหัวใจหรือใส่ขดลวดขยายหลอดเลือดหัวใจเมื่อมีข้อบ่งชี้แต่ถ้าหลอดเลือดหัวใจตีบหลายเส้นแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Graft – CABG)
โรคลิ้นหัวใจในหัวใจจะมีลิ้นหัวใจทั้งหมด 4 ลิ้นสามารถเกิดภาวะลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่วได้สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความเสื่อมตามวัยโดยผู้ป่วยที่มีภาวะลิ้นหัวใจตีบจะส่งผลให้สมรรถภาพทางร่างกายต่ำลงเช่นเลือดไม่สามารถไหลผ่านลิ้นหัวใจเอออร์ติกและไม่สามารถส่งไปเลี้ยงสมองได้จนเกิดอาการหน้ามืดส่วนภาวะลิ้นหัวใจรั่วผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการมีน้ำเกินในร่างกายมีอาการเหนื่อยง่ายบวมน้ำหนักขึ้นและน้ำท่วมปอดโรคนี้สามารถรักษาได้ 2 วิธีคือการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องกินยาป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด(Anticoagulant)แต่อาจต้องซ่อมแซมซ้ำเมื่อมีภาวะลิ้นหัวใจรั่วหรือลิ้นหัวใจตีบกลับมาอีกส่วนอีกวิธีคือการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมซึ่งลิ้นหัวใจเทียมจะมีอายุการใช้งานนานถึง 10 ปีแต่ผู้ป่วยต้องกินยาป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด(Anticoagulant)โดยผลข้างเคียงของยาคือจะทำให้เลือดออกง่ายและหยุดยากหรือหากระดับยาในเลือดสูงเกินไปอาจเกิดภาวะเลือดออกในสมองหรือกระเพาะอาหารได้
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะคือการที่หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอเต้นเร็วหรือช้าเกินไปคนที่หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมออาจมีอาการวูบใจสั่นหรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดอาจส่งผลให้สมองขาดเลือดเนื่องจากมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสมองบางชนิดอาจอันตรายถึงชีวิตเช่นหัวใจเต้นเร็วแบบVentricular Tachycardia,หัวใจเต้นช้ากว่าปกติแบบComplete Heart Block โดยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถรักษาได้ด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจเพื่อให้จังหวะหัวใจกลับมาเต้นสม่ำเสมอหรืออาจใส่อุปกรณ์ช่วยเพื่อให้หัวใจเต้นในจังหวะปกติในกรณีที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้าหรือใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบ Ventricular Tachycardia
สาเหตุที่ก่อให้เหตุความเสี่ยงโรคหัวใจ
สาเหตุของโรคหัวใจนั้นเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยหลักด้วยกัน คือ ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว อายุ และเพศ ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ เช่น การสูบบุหรี่ ภาวะโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในเลือดสูง รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือที่เรียกว่า ไลฟ์สไตล์แบบนั่งอยู่กับที่ (Sedentary lifestyle)
วิธีการป้องกันและดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
โรคหัวใจนั้นสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจมากขึ้น เช่น สูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหันมาดูแลตนเองด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนัก และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม และลดปริมาณโซเดียมและน้ำตาลให้น้อย นอกจากนี้ ควรหมั่นตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตและไขมันในเลือด
วิธีการตรวจเช็กโรคหัวใจ
สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจเช็กว่าตนเองมีความเสี่ยงกับการเป็นโรคหัวใจหรือไม่นั้น สามารถนัดพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจและเข้ารับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลได้ เพื่อดูน้ำหนัก ส่วนสูง ความดันโลหิต อัตราและความสม่ำเสมอของการเต้นของหัวใจ นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อดูว่าภาวะของหัวใจปกติหรือไม่
ทำความรู้จัก “โรคหัวใจ” ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/